วันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2562

การประกันคุณภาพการศึกษา


            การประกันคุณภาพการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๔๕ พระราชบัญญัติฉบับนี้ได้กำหนดให้มีระบบประกันคุณภาพการศึกษาขึ้น เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา ทุกระดับ ทั้งในระดับอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา

๑. ระบบการประกันคุณภาพการศึกษา

วัตถุประสงค์สำคัญของการประกันคุณภาพการศึกษา คือ การพัฒนาการศึกษาให้ได้คุณภาพและมาตรฐาน เมื่อมีระบบประกันคุณภาพและมีการประเมินคุณภาพ ย่อมทำให้ทราบระดับคุณภาพของสถานศึกษาในการดำเนินภารกิจด้านต่างๆ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้สถานศึกษามีการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง และทำให้ทราบความก้าวหน้าในการพัฒนาคุณภาพ ของสถานศึกษา ตลอดจนทำให้ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพที่เปิดเผยเป็นรายงานต่อสาธารณชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง



การประกันคุณภาพการศึกษาเป็นกระบวนการที่ประกอบด้วย การควบคุมคุณภาพ การตรวจสอบคุณภาพ และการประเมินคุณภาพ ดังนี้

การควบคุมคุณภาพ เป็นการจัดระบบและกลไกสำหรับควบคุมคุณภาพภายในสถานศึกษา 

การตรวจสอบคุณภาพ เป็นการตรวจสอบดูแลระบบและกลไกที่จัดไว้ เช่น ตรวจสอบหน่วยงาน กระบวนการ และระเบียบข้อบังคับ ที่วางไว้

การประเมินคุณภาพ เป็นการตัดสินว่า คุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนดนั้นอยู่ในระดับใด มีจุดเด่น และจุดด้อย ที่ควรปรับปรุงแก้ไขในเรื่องใด

การประกันคุณภาพการศึกษาอาจจำแนกได้เป็น ๒ ส่วน คือ การประกันคุณภาพภายใน และการประกันคุณภาพภายนอก 

๑) การประกันคุณภาพภายใน

เป็นกระบวนการประกันคุณภาพการศึกษาที่ดำเนินการภายในสถาบันอุดมศึกษา โดยสถาบันอุดมศึกษาเป็นผู้ดำเนินการเอง

๒) การประกันคุณภาพภายนอก

เป็นการดำเนินการตรวจสอบและประเมินคุณภาพทั้งระบบ โดยหน่วยงานภายนอก คือ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมิน คุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี


ในการประเมินคุณภาพภายนอก ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติที่อ้างถึงแล้วนั้น ได้กำหนดให้มีการประเมินคุณภาพภายนอกของสถานศึกษาทุกแห่งอย่างน้อย ๑ ครั้งในทุก ๕ ปี นับตั้งแต่การประเมินครั้งสุดท้าย  และเสนอผลการประเมินต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณชน

๒. หลักเกณฑ์การประกันคุณภาพการศึกษา

ตามกฎกระทรวงว่าด้วยระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. ๒๕๕๓ กำหนดให้การประเมินคุณภาพภายนอกครอบคลุมมาตรฐาน ๔ ด้าน ดังนี้

๑) ผลการจัดการศึกษา
๒) การบริหารจัดการสถานศึกษา
๓) การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
๔) การประกันคุณภาพภายใน

โดยมีตัวบ่งชี้ ๑๘ ตัวบ่งชี้ ดังนี้

ด้านคุณภาพบัณฑิต

มี ๔ ตัวบ่งชี้ ได้แก่

๑. บัณฑิตปริญญาตรีที่ได้งานทำหรือประกอบอาชีพอิสระภายใน ๑ ปี
๒. คุณภาพของบัณฑิตปริญญาตรี โท และเอก ตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิอุดมศึกษาแห่งชาติ
๓. ผลงานของผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโทที่ได้รับการตีพิมพ์หรือเผยแพร่
๔. ผลงานของผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอกที่ได้รับการตีพิมพ์หรือเผยแพร่

ด้านงานวิจัยและงานสร้างสรรค์ 

มี ๓ ตัวบ่งชี้  ได้แก่

๑. งานวิจัยหรืองานสร้างสรรค์ที่ได้รับการตีพิมพ์หรือเผยแพร่
๒. งานวิจัยที่นำไปใช้ประโยชน์
๓. ผลงานวิชาการที่ได้รับการรับรองคุณภาพ

ด้านการบริการวิชาการแก่สังคม

มี ๒ ตัวบ่งชี้  ได้แก่

๑. ผลการนำความรู้และประสบการณ์จากการให้บริการวิชาการมาใช้ในการพัฒนาการเรียนการสอนหรือการวิจัย
๒. ผลการเรียนรู้และเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนหรือองค์กรภายนอก

ด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม

มี ๒ ตัวบ่งชี้  ได้แก่

๑. การส่งเสริมและสนับสนุนด้านศิลปะและวัฒนธรรม
๒. การพัฒนาสุนทรียภาพในมิติทางศิลปะและวัฒนธรรม

ด้านการบริหารและการพัฒนาสถาบัน

มี ๓ ตัวบ่งชี้  ได้แก่

๑. การปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ของสภาสถาบัน 
๒. การปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ของผู้บริหารสถาบัน
๓. การพัฒนาคณาจารย์

ด้านการพัฒนาและประกันคุณภาพภายใน

มี ๔ ตัวบ่งชี้  ได้แก่

๑. ผลประเมินการประกันคุณภาพภายในรับรองโดยต้นสังกัด
๒. ผลการพัฒนาให้บรรลุตามปรัชญา ปณิธาน พันธกิจ และวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสถาบัน
๓. ผลการพัฒนาตามจุดเน้นและจุดเด่นที่ส่งผลสะท้อนเป็นเอกลักษณ์ของสถาบัน
๔. ผลการชี้นำ ป้องกัน หรือแก้ปัญหาของสังคมในด้านต่างๆ

๓. วิธีการประกันคุณภาพการศึกษา

๑. การประกันคุณภาพภายใน

เป็นกระบวนการบริหารที่สถานศึกษาทุกระดับ ทุกแห่ง ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการวางแผน การกำหนดเป้าหมาย และวิธีการ ลงมือทำตามแผน ประเมินผล และปรับปรุงแก้ไขเพื่อพัฒนาคุณภาพ เมื่อสถานศึกษามีการดำเนินการประกันคุณภาพภายในแล้ว จะต้องจัดทำรายงานประจำปีที่เป็นรายงานประเมินคุณภาพภายใน ซึ่งเป็นผลจากการประกันคุณภาพภายใน หรือเรียกว่า รายงานการประเมินตนเอง (Self Assessment Report: SAR) เพื่อนำเสนอต่อหน่วยงานต้นสังกัด และเปิดเผยต่อสาธารณชน

๒. การประกันคุณภาพภายนอก

เป็นการประเมินคุณภาพของการจัดการศึกษา การติดตามและการตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา ซึ่งกระทำโดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือผู้ประเมินภายนอก โดยมีขั้นตอนใหญ่ๆ ๓ ขั้นตอน คือ

๑) ขั้นตอนก่อนการตรวจเยี่ยมสถานศึกษา ก่อนการตรวจเยี่ยมคณะผู้ประเมินภายนอกต้องรวบรวมข้อมูลของสถานศึกษา เช่น รายงานการประเมินตนเองของสถานศึกษา แล้วนำมาศึกษาวิเคราะห์ และกำหนดขอบเขตของการประเมินภายนอก ต่อจากนั้น คณะผู้ประเมินภายนอกจะกำหนดนัดวัน เพื่อเข้าตรวจเยี่ยมสถานศึกษา

๒) ขั้นตอนในระหว่างการตรวจเยี่ยมสถานศึกษา เมื่อคณะผู้ประเมินภายนอกไปถึงสถานศึกษาแล้ว ต้องมีการชี้แจงวัตถุประสงค์ ในการตรวจเยี่ยม มีการสังเกต สัมภาษณ์ และ/หรือดูเอกสารต่างๆ ของสถานศึกษา แล้วจึงวิเคราะห์สรุปข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับ และเสนอผลการตรวจเยี่ยมด้วยวาจาต่อสถานศึกษา

๓) ขั้นตอนหรือการตรวจเยี่ยมสถานศึกษา คณะผู้ประเมินภายนอกจะต้องเขียนรายงานการตรวจเยี่ยมสถานศึกษา ส่งให้สถานศึกษาตรวจสอบและโต้แย้ง และอาจมีการปรับปรุงแก้ไขรายงานให้สมบูรณ์ ก่อนที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) จะเผยแพร่ต่อสาธารณชน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การวัดและประเมินผลทางการศึกษา

ความหมายของคำว่า การประเมินผล ( Evaluation)  ได้มีผู้ให้ความหมายไว้ ดังนี้             ชวาล แพรัตกุล  (2516 : 140) กล่าวว่า การประเมินผล ...